ลบ แก้ไข

ตัวละครพม่าฉบับต้อนรับอาเซียน ดูละคร แล้วย้อนดูตัว

 

 
 

    ประวัติศาสตร์การสงครามระหว่างไทยกับพม่าเป็นวัตถุดิบให้กับการสร้างสรรค์วรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์ไทยหลายเรื่อง เช่น กวีนิพนธ์โบราณ เรื่อง รบพม่าที่ท่าดินแดง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โคลงมังทราตีเชียงใหม่ นวนิยายร่วมสมัย เช่น บางระจัน ขุนศึก ของไม้ เมืองเดิม สายโลหิต ของโสภาค สุวรรณ ภาพยนตร์ เช่น เรื่องสุริโยทัย และ นเรศวร อำนวยการผลิตโดยหม่อมเจ้า ชาตรี เฉลิมยุคล และละครโทรทัศน์ เช่น บางระจัน อตีตา กษัตริยา เป็นต้น
 
    ผลงานที่ยกตัวอย่างมา เป็นเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์สงครามพม่ารบกับไทย ซึ่งโดดเด่นเป็นที่รู้จักกันดีในสังคมไทย ทุกเรื่องต่างสร้างให้ตัวละครพม่าเป็นฝ่ายศัตรูผู้มากระทำย่ำยีดินแดนไทย กลายเป็นบาดแผลฝังใจจากหน้าประวัติศาสตร์สู่จินตภาพในหน้าวรรณกรรม การสร้างภาพตัวละครพม่าให้เป็นศัตรูตัวฉกาจของชาติ เป็นความคิดที่ยังคงแช่แข็งอยู่ในสังคมไทยเรื่อยมา อันเนื่องมาจากผลพวงทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ซึ่งยังคงถูกหยิบยกมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นชาติและความเป็นไทยอยู่อย่างไม่เคยล้าสมัย
 
   อย่างไรก็ดี แม้ว่าในพงศาวดารและแบบเรียนประวัติศาสตร์ชาติไทยยังคงตีตราให้พม่าเป็นศัตรูของกรุงศรีอยุธยา แต่ในงานวรรณกรรมกลับมีความพยายามสร้างตัวละครพม่าให้ผู้อ่านและผู้ชมชาวไทยรู้สึกว่าตัวละครพม่ามิได้มีภาพด้านลบอย่างเดียว โดยการพยายามลดทอน/ละลาย ความโหดร้าย ความน่าชิงชัง ในฐานะผู้มาปล้นเอกราชลงบ้าง
 
   ข้อนี้สามารถเห็นได้จากการสร้างตัวละครพม่าในละคร ของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เรื่อง บางระจัน ออกอากาศระหว่างวันที่ 6 มกราคม ถึง วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558 สร้างโดยบริษัทบรอดคาซท์ไทย เทเลวิชั่น จำกัด จากวรรณกรรมอมตะของไม้ เมืองเดิม บทโทรทัศน์โดย คฑาหัสต์ บุษปะเกศ / ฟ้าฟื้น กำการแสดงโดย ภวัต พนังคศิริ อำนวยการผลิตโดย อรุโณชา ภาณุพันธุ์ ซึ่งเป็นละครแนวแอกชั่น-ชีวิต-ประวัติศาสตร์ การสร้าง บางระจัน ในพุทธศักราชนี้มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่การเพิ่มตัวละครพม่าเข้ามาใหม่ ซึ่งไม่มีในฉบับของไม้ เมืองเดิม
 
   แน่นอนว่าตัวละครพม่าในละครต้องเป็นตัวละครฝ่ายร้ายอยู่ดีในสายตาผู้ชมชาวไทย แต่ในละครเวอร์ชั่น พ.ศ. 2558 พยายามสร้างภาพตัวละครพม่าขึ้นมาเพื่อให้ภาพตัวละครพม่ามีน้ำหนักสมดุลกันมากขึ้น ตัวละครที่เพิ่มเสริมเข้ามานี้ คือ ตัวละคร นายใจ หรือ อองนาย แสดงโดย พศุตม์ บานแย้ม ซึ่งถูกกองทัพพม่าส่งมาเป็นไส้ศึก เพื่อล้วงความลับค่ายบางระจันหรือค่ายระจันในฉบับนวนิยายและละครโทรทัศน์ จนพบรักกับหญิงชาวบ้านไทย ชื่อ สไบ แสดงโดย ศิริพันธ์ วัฒนจินดา ตัวละครสไบก็เป็นตัวละครที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่ เพื่อให้เป็นคู่พระนาง—ระหว่างอองนาย นายทหารอังวะกับสไบ หญิงสาวชาวสยาม ตามขนบโครงเรื่องนวนิยายแนวพาฝัน
 
    ตัวละครอองนาย ซึ่งมีบทบาทเป็นไส้ศึก ถูกให้ภาพว่าเป็นตัวละครพม่าที่มีจิตใจหวั่นไหวต่อความรัก สำหรับเขา ความรักที่มีต่อสไบ ตั้งแต่แรกพบทำให้เขาถูกมองว่าหลงผู้หญิงซึ่งเป็นข้างศัตรู ในขณะที่ตัวละครสไบก็มีใจให้กับอองนาย ทั้งก่อนและหลังที่รู้ว่าอองนายเป็นฝ่ายศัตรู แต่ตัวละครสองตัวนี้ก็มิอาจทำตามหัวใจปรารถนาของตนได้ เนื่องจากมีอุปสรรคขวางกั้นพวกเขาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกำแพงเรื่องเชื้อชาติ และบทบาทหน้าที่เพื่อแผ่นดินเกิด แม้ว่าตัวละครอองนายจะมอบหัวใจให้กับสไบ แต่เขาก็ยังสำนึกว่าตัวเองเป็นอังวะ และยังต้องมีหน้าที่เพื่อแผ่นดินเกิด เพื่อกองทัพ เขาจึงไม่ทิ้งหน้าที่ของการเป็นไส้ศึกของเขา ซึ่งตัวละครสไบก็ตกอยู่ในภาวะเช่นเดียวกับตัวละครอองนาย
 
    ถ้าเราอ่านตัวละครทั้งสองตัวดังกล่าว จะเห็นว่าตัวละครทั้งสองตัวนี้ เป็นตัวละครเดียวกัน ซึ่งพวกเขามีความรักซึ่งเป็นความรักที่ข้ามกำแพงเรื่องชาติและมีพันธสัญญาที่จะต้องพลีชีพเพื่อแผ่นดิน ดังนั้น ตัวละครสองตัวนี้ทำให้เห็นภาพตัวละครพม่าในวรรณกรรมและละครไทยอีกภาพหนึ่ง นั่นคือ ภาพตัวละครพม่าที่เป็นเหมือนภาพตัวละครไทยที่มีความรักและสำนึกรักชาติ ถูกนำเสนอให้เป็นตัวละครที่ผู้ชมเห็นอกเห็นใจและเข้าใจบทบาทตัวละครพม่าในอีกมิติหนึ่ง 
 
   ตัวละครอองนายกับสไบ ใน บางระจัน เวอร์ชั่น พุทธศักราช 2558 เป็นตัวละครคู่รักต่างเชื้อชาติที่โดดเด่นอีกคู่หนึ่ง ช่วยสร้างสีสันให้กับละคร ไม่แพ้คู่รักคู่อื่นๆ ในเรื่องเดียวกัน สิ่งที่คู่รักต่างเชื้อชาตินี้กำลังนำเสนอ คือ ความรักระหว่างเชื้อชาติสามารถอุบัติขึ้นได้แม้ท่ามกลางบริบทของความชิงชังของคนส่วนใหญ่ที่เขาทั้งสองสังกัด และการชี้ให้เห็นหน้าที่ของไพร่บ้านพลเมืองที่มีต่อแผ่นดินซึ่งเป็น คนละเรื่องกับเรื่องความรักของปัจเจก
อย่างไรก็ดี การพยายามนำเสนอภาพตัวละครพม่าให้ดูลดระดับความโหดร้ายความน่าชิงชังลงในสายตาของคนไทยนั้น มิได้เพิ่งจะเกิดขึ้นในละครเรื่องนี้เท่านั้น แต่พบว่าในอดีตก็มีงานวรรณกรรมอมตะอย่างเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ของ ยาขอบ ซึ่งพยายามสร้างให้ตัวละครพม่า เป็นตัวละครที่มิได้มีแต่ภาพของผู้มาย่ำยีไทย

   โดยพยายามหลอมละลายเรื่องเชื้อชาติ จนผู้อ่าน/ผู้ชมชาวไทย หลงลืมไปว่าตัวละครเอก คือ “จะเด็ด” เป็นพม่า และในหน้าประวัติศาสตร์ก็คือ พระเจ้าบุเรงนองที่ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง อันเป็นเหตุให้ฝ่ายไทยต้องพ่ายแพ้และเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง แต่ในวรรณกรรมกลับมิได้เน้นย้ำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าตัวละครจะเด็ดหรือพระเจ้าบุเรงนองเป็นพม่าที่ถูกตีตราว่าเป็นศัตรูตลอดกาล แต่ให้ภาพว่าเป็นพระเอกในวรรณกรรมพาฝันและทำให้ผู้อ่านเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ เห็นอกเห็นใจและคอยเอาใจช่วยจะเด็ดอยู่ตลอดเวลา ทั้งในฉากชีวิตวัยเยาว์ ฉากรบ และฉากรัก ในทำนองที่รู้สึกชื่นชมและยอมรับตัวละครเอกซึ่งเป็นพม่าตัวนี้ได้อย่างสนิทใจ

 
   อย่างไรก็ตาม ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การสงครามระหว่างไทยกับพม่า โดยเฉพาะสมัยอยุธยาส่วนใหญ่จะเน้นให้เห็นความเหนือกว่าของพม่าที่เป็นฝ่ายรุก ประดุจราชสีห์ที่พร้อมจะขย้ำเหยื่อให้ย่อยยับ ฉะนั้น ภาพของกองทัพพม่าจึงเป็นผู้ข่มเหงรังแกชาวบ้าน เป็นกองทัพที่น่าหวาดกลัว สำหรับชาวบ้านทั่วไป ภาพความจำนั้นยังคงเป็นบาดแผลความทรงจำที่เล่าขานสืบต่อมา เช่น ในเพลงกล่อมเด็กภาคกลางของไทย ก็มีกล่าวถึงบริบทเหตุการณ์สงครามพม่ารบไทย ซึ่งพบในเพลงกล่อมเด็กที่เรียกกันว่า เจ้าขุนทอง เนื้อหากล่าวถึงการไปปล้นตีค่ายพม่าและการตายของขุนนางชื่อทอง
 
   ในขณะที่ถ้ามุ่งมองไปที่ฝ่ายพม่า พบว่าฝ่ายทหารพม่าเองก็มิได้มีใจฮึกเหิมห้าวหาญพร้อมที่จะมาตีกรุงศรีอยุธยาอย่างเดียว ทหารพม่าเองก็กลัวการศึกระหว่างพม่ากับไทยอยู่เหมือนกัน เช่น พบในเพลงกล่อมเด็กของพม่าที่เรียกกันว่า Dearly Loved Son กล่าวถึงนายทหารหนุ่มของพม่าคนหนึ่ง รำพันตัดพ้อต่อว่าแม่ของตัวเองที่ส่งเขามาทำสงครามกับอยุธยา ซึ่งเท่ากับว่าส่งให้เขามาตาย เนื่องจากการที่จะต้องเดินทางมาไกล และการที่จะต้องมาเจอกับน้ำขึ้น-น้ำลง ซึ่งเขาไม่เคยเจอน้ำขึ้น-น้ำลง เพราะอยู่อาศัยบริเวณพม่าตอนบนที่มีภูมิอากาศร้อนแล้ง (dry zone) และไม่มีปรากฏการณ์ธรรมชาติเช่นนี้ นายทหารพม่าผู้นี้จึงมิรู้ว่าจะลุย/ว่าย ข้ามน้ำขึ้น-น้ำลงและน้ำหลากที่โยดะยาหรืออยุธยาไปได้อย่างไร ทำให้เขากลัวว่าจะต้องมาจบชีวิตที่อยุธยา ดังเนื้อความในเพลงที่

The Most Rev. Friedrich V. Lustig แปลไว้ใน Burmese Classical Poems Selected and Translated (1966) ความว่า
With the army 
She has entrusted him, 
Her dearly beloved son, 
She must not pity him. 
On the way to Yodaya 
Many are the rising rivers and streams 
Violent are the rising and strong is the storm, 
But his own mother has agreed, 
“Let him die --- (if need be) ---“ 
“In my heart too, 
No distress lingers.” (p. 16)
 
     เพลงกล่อมเด็กของพม่าดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าความทรงจำเกี่ยวกับสงครามระหว่างไทยกับพม่าก็ถูกถ่ายทอดให้เห็นอารมณ์ความรู้สึกกลัวของฝ่ายพม่าเองที่มีต่ออยุธยา ด้วยเช่นกันการพินิจบริบทเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์การสงครามของทั้งสองฝ่ายในวรรณกรรมและละครไทยร่วมสมัย โดยเฉพาะฉบับปีต้อนรับอาเซียน พบว่าในพื้นที่วรรณกรรมมีความพยายามสร้างภาพสมดุลให้ตัวละครพม่า โดยการละลายภาพความเป็นผู้ร้ายและพยายามชี้ให้ผู้อ่าน/ผู้ชมชาวไทย ก้าวข้ามความคิดแช่แข็งในสังคมที่กำหนดตายตัวให้พม่าเป็นศัตรูตลอดกาล

     ในละคร บางระจัน เวอร์ชั่น พุทธศักราชต้อนรับอาเซียนนี้ เป็นความพยายามวาดภาพอีกมิติหนึ่งของตัวละครพม่า ละครนำเสนอให้เห็นแรงอธิษฐานของอองนายและสไบ ในตอนที่ตัวละครสไบ ใกล้สิ้นใจในอ้อมกอดของนายทหารอองนายที่ว่า ขอให้ความรักในภพชาติต่อไปไม่มีอุปสรรคเรื่องเชื้อชาติและสงครามมาขวางกั้นความรักของพวกเขาอีก เหมือนเช่นในภพชาตินี้
 
     ในตอนจบของละคร นายทหารอองนายกลับไปบวชที่พม่าแต่ในใจยังคงรำลึกนึกถึงมิตรภาพ ความรัก ความเป็นเพื่อน ที่เขาเคยได้รับจากค่ายระจัน รอยยิ้ม ความรัก มิตรภาพ ช่วยหลอมละลายความเป็นศัตรูที่น่าเคียดแค้น ชิงชัง และได้ร้อยรัดดวงใจให้ก้าวข้ามกำแพงเรื่องชาติแล้ว แม้ว่าตัวละครอองนายอาจมิได้ทำให้ผู้ชมไทยยอมรับและชื่นชมในฐานะตัวละครพม่า เหมือนอย่างตัวละคร “จะเด็ด” ใน ผู้ชนะสิบทิศ ก็ตามที แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ แรงอธิษฐานต่อความรักของเขาและการปรากฏภาพของมิตรภาพ ณ ห้วงขณะจิตนั้น เป็นเสมือนคำกล่าวที่ต้องการส่งสารมายังผู้ชมชาวไทยว่าสังคมไทยควรจะก้าวข้ามความคิดแช่แข็งนี้ได้แล้วหรือยัง
 
    เพราะในปลาย พ.ศ. 2558 นี้ เรากำลังจะเข้าร่วมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกันแล้ว ดังนั้น ก็ควรที่จะหันมาทำความเข้าใจซึ่งกันและกันในมิติอื่นๆ ที่เขามีอยู่บ้าง เพื่อการคบค้า คบหากัน อย่างเข้าใจกัน ในยุคอาเซียนต่อไป เหมือนกับคำกล่าวโบราณของไทยที่กล่าวไว้ว่า “ดูละคร แล้วย้อนดูตัว” ซึ่งยังสามารถหยิบยกมาใช้กล่าวอ้างได้อยู่อย่างไม่ล้าสมัยและใช้ได้จริง ๆ
 
- See more at: http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/639093#sthash.2M3w6RpG.dpuf
 

เกี่ยวกับประเทศ

 

Editor
ชม 2,712 ครั้ง
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน Developed By Upbean